ยักษ์ใหญ่โตโยต้ามอเตอร์คอร์ปประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเมื่อหลายปีก่อนว่าบริษัทจะหันมาใช้วิธีการใหม่ๆในการพัฒนาระบบเครื่องยนต์และโครงสร้างรถต่างๆ โดยวิธีซึ่งจะสามารถช่วยให้รถยนต์ของค่ายนั้นมีสมรรถนะและความน่าหลงใหลสำหรับลูกค้าทั่วโลก
จากนั้นเป็นต้นมา โตโยต้าก็ได้พัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆด้วยโครงสร้าง TNGA (Toyota New Global Architecture) เช่นรถยนต์รุ่น Prius, Avalon, RAV-4, C-HR, Camry และ ล่าสุดคือ Corolla สำหรับตลาดยุโรป

Toyota Camry

ในประเทศไทยนั้น โตโยต้าได้เปิดตัวทั้ง C-HR และ ล่าสุดคือ Camry ซึ่งทั้งสองรุ่นเป็นรุ่นสำคัญในการสร้างยอดขายให้กับบริษัทรถยนต์อันดับหนึ่งของประเทศไทย
วิศวกรของโตโยต้ากล่าวว่า ด้วยการจัดกลุ่มในการพัฒนารถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนและเครื่องยนต์เดียวกัน สามารถทำให้ลดการพึ่งพาทรัพยากรได้มากกว่า20% และโตโยต้าคาดว่าการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อีก ทำให้สามารถนำเงินมาพัฒนาในเทคโนโลยีชั้นสูงและทำให้สินค้าของโตโยต้านั้นมีความน่าใช้มากขึ้น
โตโยต้านั้นได้ให้ความสำคัญกับ platform sharing (การใช้โครงสร้างร่วมกัน) สูงขึ้นอีกระดับกับโครงสร้าง TNGA โดยการปรับรวมมาตรฐานของชิ้นส่วนต่างๆ และตำแหน่งการจัดวางในรถหลายๆประเภท รวมไปถึงการดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

Toyota Corolla
Advertisement

ด้วยโครงสร้าง TNGA ใหม่นี้ โตโยต้าคาดว่าลูกค้าจะพึงพอใจในรูปทรงที่ตื่นตามากขึ้น รวมไปถึงระดับความปลอดภัยที่สูงขึ้น และการขับขี่ที่สนุกสนาน ในขณะเดียวกันบริษัทวางแผนที่จะลดจำนวนและประเภทของชิ้นส่วนต่างๆในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาและผลิตรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลง
โครงสร้าง TNGA ถูกพัฒนาและออกแบบให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีความแข็งแรงและมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ทำให้ตอบสนองต่อการขับขี่ที่ดีเยี่ยม การควบคุมบังคับรถที่แม่นยำ นุ่มนวลทุกสภาพถนน รวมถึงทัศนวิสัยการขับขี่ที่ดีกว่า ตลอดจนรูปลักษณ์ที่สวยงาม ซึ่งในประเทศไทยนั้น โตโยต้าได้นำสถาปัตยกรรมโครงสร้างใหม่นี้มาใช้ใน Toyota C-HR เป็นรุ่นแรก และจะนำมาใช้กับรถยนต์โตโยต้ารุ่นต่อๆไปในอนาคต

Toyota C-HR

โตโยต้าคาดว่าโครงสร้าง TNGA จะเป็นการยกระดับของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยพัฒนาร่วมกับ ระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 (4th Generation Hybrid) มาตรฐานความปลอดภัยใหม่ของโตโยต้า (Toyota Safety Sense หรือ TSS) และ ระบบเชื่อมต่อที่ทันสมัย (Toyota T-Connect Telematics)

ในประเทศไทย ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะไปทดลองการขับขี่ของรถรุ่นใหม่ที่มีโครงสร้าง TNGA เช่น C-HR และ Camry ได้ ที่ Toyota Driving Experience Park (TDEX) ถนนบางนา-ตราด กม.3 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จุดเด่นของโครงสร้าง TNGA
Body rigidity – เพิ่มความมั่นคงของรถจากโครงสร้างเหล็กที่แข็งแกร่ง พร้อมเพิ่มจำนวนจุดเชื่อมตัวถัง (Spot welding) ช่วยรองรับแรงบิดที่มีต่อตัวถัง เพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัวและเกาะถนนมากยิ่งขึ้น
Low center of gravity – จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ลดการโคลงตัวของรถ ช่วยเรื่องการทรงตัวและการเข้าโค้งดีขึ้น
Double Wishbone Suspension – ช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระปีกนกคู่ เพิ่มการเกาะถนนที่ดีขึ้น

Toyota C-HR suspension

Good Handling – พวงมาลัยมีการปรับอัตราทดใหม่ ทำให้การตอบสนองแม่นยำมากขึ้น
Stability – จากโครงสร้างตัวถังที่มี rigidity (ความแกร่ง) สูงขึ้น ทำให้มีอาการบิดตัวของรถน้อยเมื่อเปลี่ยนทิศทาง
Agility – ความคล่องตัวสูงขึ้น เกิดจากการที่ตัวรถถูกออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ส่งผลให้การขับขี่ที่สนุกมากขึ้น และวงเลี้ยวที่แคบสามารถขับลัดเลาะไปตามที่แคบๆได้อย่างคล่องตัว
Visibility – จากการออกแบบให้ผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางของรถ พร้อมเพิ่มทัศนวิสัย และการลดจุดอับสายตาภายในห้องโดยสาร ด้วยการปรับกระจกด้านหน้าคนขับให้กว้างขึ้น และลดขนาดเสา เอ (A Pillar) ทั้ง 2 ด้านให้แคบลง ส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถมองวัตถุในมุมอับได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
Comfort – โครงสร้างรูปแบบใหม่ และช่วงล่างที่อิสระ สามารถลดแรงกระแทกจากพื้นถนนสู่ห้องโดยสารได้อย่างดี รวมไปถึงลดอาการเมื่อยล้าในการขับขี่และโดยสาร